การดูเเลและพัฒนาพนักงาน

การดูแลพนักงาน

KEX มีนโยบายจ้างงานที่เป็นธรรมและถูกกฎหมาย รวมถึงมีการให้สิทธิประโยชน์กับพนักงาน โดยไม่แบ่งแยกทางเพศ เชื้อชาติ หรือศาสนา นอกจากสิทธิประโยชน์ทั่วไปแล้ว KEX จัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่กำหนดอัตราสมทบสูงถึงร้อยละ 15 การประกันสุขภาพ การประกันชีวิต และการประกันอุบัติเหตุ (เฉพาะส่วนงานที่มีความเสี่ยง) รวมถึงมีโครงการออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นของ KEX ในราคาออกและเสนอขายหลักทรัพย์ครั้งแรก (ราคา IPO) ให้แก่พนักงานในระดับผู้จัดการขึ้นไป โดยใบสำคัญแสดงสิทธิดังกล่าวเป็นไปเพื่อการตอบแทนพนักงานและการจูงใจพนักงานที่มีความสามารถให้อยู่กับ KEX ในระยะยาว

นอกจากนี้ เมื่อมีองค์กรจะมีพัฒนาการหรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่มีสาระสำคัญหรือกระทบต่อสิทธิของพนักงาน ผู้บริหารจะมีการสื่อสารกับพนักงานโดยตรงผ่าน Town Hall และการสื่อสารผ่านพนักงานระดับผู้จัดการ ล่วงหน้า รวมถึงมีการสื่อสารผ่านแอปพลิเคชัน Kerry Me ซึ่งเปรียบเสมือนอินทราเน็ตขององค์กรด้วย

ในปี 2563 KEX ริเริ่มให้มีการประเมินผลความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร โดยจะนำผลการประเมินมาวิเคราะห์และสร้างกิจกรรมที่ตอบสนองต่อความคาดหวังของพนักงาน โดยเฉพาะในเรื่องที่ได้คะแนนประเมินอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงสร้างช่องทางการสื่อสารที่เข้าถึงพนักงานมากขึ้น

การพัฒนาและฝึกอบรมพนักงาน

KEX มุ่งเน้นการพัฒนาและฝึกอบรมพนักงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบต่างๆที่จะเกิดขึ้น โดยมีการแบ่งหลักสูตรอบรมออกเป็น 3 ประเภท คือ

  1. การพัฒนาความสามารถที่สอดคล้องกับหน้าที่ความรับผิดชอบ
  2. การพัฒนาความสามารถที่พนักงานควรจะต้องมีขั้นพื้นฐาน
  3. การพัฒนาความสามารถส่วนบุคคล

โดยสายงานพัฒนาทรัพยากรบุคคลจะเป็นผู้วางแผนและกำหนดตัวชี้วัด เพื่อนำเสนอผู้บริหารระดับสูงเพื่อพิจารณาอนุมัติเป็นประจำทุกปี พร้อมกับงบประมาณ และมีการติดตามผลโดยเปรียบเทียบกับตัวชี้วัดอย่างต่อเนื่อง

โดยในปีที่ผ่านมา มีการฝึกอบรมพนักงานไปทั้งสิ้นโดยเฉลี่ยน 26 ชั่วโมงต่อคน

นอกจากนี้ KEX มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานเป็นประจำปีทุกปี โดยครอบคลุมถึงการประเมินบุคลิกที่สะท้อนวัฒนธรรมองค์กร HI STEP ด้วย ซึ่งในปีที่ผ่านมา มีพนักงานได้รับการประเมินคิดเป็นร้อยละ 97 จากพนักงานทั้งหมด สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยผลการประเมินจะถูกสื่อสารให้พนักงานทุกคนทราบโดยหัวหน้างานและนำมาเป็นฐานคิดค่าตอบแทนและเงินโบนัสประจำปี และจะมีการหารือร่วมกันเพื่อพัฒนาปรับปรุงในปีถัดไป สำหรับพนักงานกลุ่ม Talent ที่อาจจะถูกปรับเลื่อนตำแหน่ง มีการนำรูปแบบการประเมิน 360 องศาเข้ามาใช้เพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานคนดังกล่าวมีความเหมาะสมกับตำแหน่งที่จะถูกปรับ

โดยการประเมินผลการพัฒนาพนักงานในปี 2563 พบว่า

  1. หลักสูตร Newbie และ Bronze เพื่อพัฒนาศักยภาพการให้บริการ กับส่วนงานร้านค้า Parcel Shop โดยมีผลประเมินด้านคุณภาพและการให้บริการ NRSL ปี 2020/21 = 94.65% (ในพื้นที่ให้บริการกรุงเทพและปริมณฑล
  2. หลักสูตร พัฒนาและส่งเสริมการให้บริการรับพัสดุ ณ บ้านลูกค้า (Door to Door Service) โดยมีการเติบโตของยอดการจองเรียกรถเข้ารับพัสดุที่ 37% และมีจำนวนกล่องพัสดุงานรับเพิ่มขึ้น 17% (ข้อมูลเปรียบเทียบระหว่าง ไตรมาส 4/2020 กับ ไตรมาส 1/2021)
  3. หลักสูตร Kerry Can Sales เพื่อพัฒนาทักษะ ด้านเทคนิคการส่งเสริมงานขายผลิตภัณฑ์คู่ค้าธุรกิจ โดยมีมูลค่ายอดขายกว่า 2.6 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 11 เมษายน 2564)
ความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในการทำงาน

มาตรการเพื่อการขับขี่อย่างปลอดภัย

KEX ให้ความสำคัญกับการขับขี่อย่างปลอดภัยและปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งเป้าลดอุบัติเหตุเป็นศูนย์ (0) จึงมีการกำหนดนโยบายความปลอดภัยและบทลงโทษทางวินัยกรณีเกิดอุบัติเหตุจากความประมาทเลินเล่อของพนักงาน และมีการจัดตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยที่มีการประชุมเพื่อติดตามผลของมาตรการและการทบทวนแนวปฏิบัติต่างๆ หน่วยงานความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมจะจัดให้มีการฝึกอบรมหลักสูตรการขับขี่เชิงป้องกันให้แก่พนักงานใหม่ทุกรายก่อนเริ่มงาน ขณะที่พนักงานขับรถทั้งของ KEX และ sub-contractors จะมีกิจกรรม Safety Talk เพื่อพบปะพูดคุยเกี่ยวกับความปลอดภัยให้กับพนักงานขับรถเป็นประจำ และการรณรงค์ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆในองค์กร ขณะเดียวกัน กำหนดให้พนักงานขับรถจะต้องทำการตรวจเช็คความพร้อมของรถก่อนออกวิ่งทุกครั้ง โดยพบว่า ในปี 2563 มีจำนวนการเกิดอุบัติเหตุลดลงอย่างต่อเนื่อง และลดลงมากกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับอัตราการเกิดอุบัติเหตุแบบเดือนต่อเดือนในปีที่ผ่านมา

สถิติการเกิดอุบัตเหตุทางรถยนต์ในปี 2562 และ 2563
ค่าเฉลี่ยของจำนวนอุบัติเหตุทางรถในปี 2562
จำนวนอุบัติเหตุทางรถในปี 2563 ในแต่ละเดือน
นโยบายสิทธิมนุษยชน

นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน

KEX ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตามกฎหมายและหลักปฏิบัติสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน จึงบรรจุเรื่องดังกล่าวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจรรยาบรรณธุรกิจของ KEX ซึ่งประกาศใช้กับพนักงานทุกระดับ และครอบคลุมทั้งเรื่องการจ้างงานและการมอบผลประโยชน์ที่เป็นธรรม การให้โอกาสและความเท่าเทียมกันกับบุคลากร การไม่ใช้แรงงานทาส แรงงานบังคับ หรือแรงงานเด็ก และการเคารพในสิทธิพลเมือง การแสดงความเห็นทางการเมืองตราบเท่าที่ไม่ละเมิดจริยธรรมของ KEX รวมถึงการปกป้องและรักษาข้อมูลส่วนบุคคลและการไม่ละเมิดในทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ โดยวางเป้าหมายให้จำนวนข้อร้องเรียนใน 4 ประเด็นหลัก ลดเหลือศูนย์ ภายในปี 2564

นอกจากนี้ยังมีการออกนโยบายที่เฉพาะเจาะจงในประเด็นที่มีนัยสำคัญทางด้านสิทธิมนุษยชน ได้แก่ นโยบายการไม่เลือกปฏิบัติ นโยบายการไม่ใช้แรงงานบังคับ และการรณรงค์ห้ามเลิกจ้างพนักงานหญิงที่ตั้งครรภ์โดยออกเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ในองค์กรและกับคู่ค้า

โดย KEX มีการสื่อสารให้กับคู่ค้าของ KEX ทุกรายรับทราบ การบรรจุในจรรยาบรรณคู่ธุรกิจเพื่อให้นำไปปฏิบัติให้สอดคล้องกันด้วย

นโยบายการไม่ใช้แรงงานบังคับ
186 KB
นโยบายการไม่เลือกปฏิบัติ
184 KB

การประเมินความเสี่ยงและการบริหารจัดการ

KEX มีการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนโดยครอบคลุมทุกกระบวนการทางธุรกิจ ผ่านวิธีการดังนี้

  1. สุ่มตรวจสอบการหน้างาน
  2. รับฟังจากช่องทาง Whistleblowing
  3. สุ่มสัมภาษณ์เป็นการเฉพาะ (one-on-one) กับพนักงานของ KEX และ sub-contactor

โดยจะนำผลที่ได้มาวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงทั้งในแง่ของผลกระทบและโอกาสที่จะเกิดเพื่อจัดลำดับความสำคัญและกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อกำจัดหรือลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้น รวมถึงมาตรการชดเชยหรือบรเทาผลกระทบให้กับผู้ร้องทุกข์หรือผู้ที่ถูกกระทำ โดยในปี 2563 พบว่า ประเด็นความเสี่ยงทางด้านสิทธิมนุษยชน มี 4 ประเด็น ดังนี้

  1. การปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเท่าเทียมกัน
  2. การกระทำที่เข้าข่ายว่าอาจจะเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ
  3. การแบ่งแยกและการดูถูกผู้อื่น
  4. การใช้แรงงานที่อาจเข้าข่ายเป็นแรงงานบังคับและแรงงานเด็ก
พัฒนาเกี่ยวกับแนวทางบริหารจัดการความเสี่ยงของ KEX
และการส่งเสริมให้เคารพสิทธิมนุษยชน
ผลจากการดำเนินมาตรการบริหารความเสี่ยงเรื่องสิทธิมนุษยชน
การปฏิบัติพนักงาน
อย่างเท่าเทียมกัน
กรณีล่วงละเมิดทางเพศ
การแบ่งแยก
และการดูถูกผู้อื่น
การใช้แรงงานที่อาจเข้าข่ายเป็นแรงงานบังคับและแรงงานเด็ก
รวม

หน่วย : จำนวนข้อร้องเรียน

ผลจากการดำเนินมาตรการบริหารความเสี่ยงเรื่องสิทธิมนุษยชน 2562 2563
จำนวนข้อร้องเรียน
การปฏิบัติพนักงานอย่างเท่าเทียมกัน 55 54
กรณีล่วงละเมิดทางเพศ 1 1
การแบ่งแยกและการดูถูกผู้อื่น 12 19
การใช้แรงงานที่อาจเข้าข่ายเป็นแรงงานบังคับและแรงงานเด็ก 17 5
รวม 85 79

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 พบว่ายังไม่มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศและการใช้แรงงานที่อาจเข้าข่ายเป็นแรงงานบังคับและแรงงานเด็ก รวมถึงกรณีอื่นๆ มีแนวโน้มลดลง

โดยมาตรการเพื่อบรเทาผลกระทบ (remedy plan) มีตั้งแต่การจ่ายค่าชดเชยความเสียหาย หรือการชดเชยให้ในสิ่งที่ควรจะได้รับ ไปจนถึงการให้ผู้กระทำความผิดออก

กิจกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคม

KEX ร่วมกับกลุ่มบริษัทบีทีเอส จัดทำกล่อง “บรรเทาทุกข์ ส่งความสุข” มอบให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในกรุงเทพและปริมณฑล 20,000 ชุด มูลค่ารวม 25 ล้านบาท โดยภายในกล่องจะประกอบด้วยข้าวสาร อาหารแห้ง อาหารสำเร็จรูป เครื่องปรุงรสต่างๆ โดยนอกจากกลุ่มบริษัทบีทีเอสแล้ว ยังมีความร่วมมือกับดาราและอินฟลูเอนเซอร์ เพื่อส่งมอบถุงยังชีพ รวมทั้งสิ้นคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,229,000 บาท

KEX เปิดให้บริการจัดส่งผัก ผลไม้ และผลิตผลทางการเกษตร จากเกษตรกรถึงมือผู้บริโภคโดยตรง ด้วยระยะเวลาการจัดส่งที่รวดเร็วและบรรจุภัณฑ์เฉพาะเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเน่าเสีย ทั้งนี้ บริการดังกล่าวเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกรและเพิ่มความสามารถในการขายตรงกับผู้บริโภค ทำให้เกษตรกรสามารถตั้งราคาเองได้ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และผู้บริโภคก็ได้รับสินค้าที่มีคุณภาพในระยะเวลาที่รวดเร็ว โดยตั้งแต่เปิดบริการ มีเกษตรกรที่มาใช้บริการจำนวน 800 ราย คิดเป็นมูลค่าการจัดส่งทั้งหมด 1.8 ล้านบาท นอกจากนี้ KEX ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาและส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ภาคการเกษตร (MOU) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานในการพัฒนาเกษตรกร พร้อมทั้งกระบวนการจัดส่งเพื่อให้สินค้าถึงมือผู้รับปลายทางอย่างมีประสิทธิภาพ และมอบส่วนลด 10% ในการจัดส่งสินค้าทางการเกษตรให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ รวมถึงบริการรับผลผลิตถึงหน้าฟาร์ม (Door-to-Door service) ในระยะถัดไป KEX ยังนำเสนอการให้ความรู้และการช่วยประชาสัมพันธ์ผลผลิตทางเกษตรผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการขายของเกษตรกรด้วย

มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19

คณะกรรมการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

KEX มีการจัดตั้งคณะกรรมการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 (Covid Committee) เพื่อกำกับดูแลเรื่องนโยบายและออกมาตรการต่างๆ อันเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดในองค์กรเชิงรุกและการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม และการนำเสนอ Dashboard เพื่อรายงานผลเป็นประจำทุกวัน โดยตัวอย่างมาตรการที่ออก อาทิ การห้ามเดินทางข้ามจังหวัดหากไม่มีเหตุจำเป็นและหากจำเป็นต้องเดินทางจะต้องได้รับอนุมัติจากหัวหน้างานหรือประธานเจ้าหน้าที่บริหารเท่านั้น การห้ามจัดประชุมที่รวมกลุ่มกันเกิน 5 คน การจัดที่นั่งทำงานแบบเว้นระยะห่างตามแนบทางของกรมควบคุมโรค การออกแนวปฏิบัติให้ทำงานที่บ้าน รวมถึงการจัดให้มีการวัดอุณภูมิก่อนเข้าปฏิบัติงาน และการจัดหาหาอุปกรณ์ป้องกัน ได้แก่ หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ ให้กับพนักงานทุกราย นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำจัดให้มีการตรวจค้นหาโควิดเชิงรุกให้กับพนักงานของ KEX ที่ประสงค์จะเข้ารับการตรวจทุกรายด้วย

มาตรการเพื่อบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ

KEX มีการกำหนดแผนการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจและมีการซักซ้อมกันอย่างเป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้จัดให้มี Back –up site และศูนย์บริการสำรอง กรณีที่อาจจะต้องมีการปิดศูนย์บริการบางแห่ง เพื่อให้ยังคงรักษาความสามารถในการบริการได้ รวมถึงการกำหนดผู้ที่จะปฏิบัติหน้าที่แทนในกรณีที่มีพนักงานบางรายไม่สามารถเข้ามาปฏิบัติงานได้

ผลการดำเนินงานด้านพนักงานและสังคม
2561 2562 2563
จำนวนพนักงานทั้งหมด (คน) 21,971 22,893 18,390
แบ่งกลุ่มตามเพศ (คน) ช     = 13,150 ช     = 14,075 ช     = 10,956
ญ     = 8,821 ญ     = 8,818 ญ     = 7,434
จำนวนพนักงานที่มีความพิเศษกว่าพนักงานคนอื่น (ผู้พิการ คน) ช     = 60 ช     = 116 ช     = 122
ญ     = 50 ญ     = 96 ญ     = 98
อัตราการลาออกของพนักงาน (%) / อัตราการลาออกปกติในอุตสาหกรรม ช     = 9.94% ช     = 19.46% ช     = 23.34%
ญ     = 9.77% ญ     = 26.01% ญ     = 18.00%
ผลสำรวจความพึงพอใจของพนักงานต่อองค์กร/ เป้าหมาย (ร้อยละ) N/A N/A 49/67
การพัฒนาและฝึกอบรมพนักงาน
จำนวนชั่วโมงการฝึกอบรมของพนักงานทั้งหมด  176,843 247,231 472,785
ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการฝึกอบรมพนักงานทั้งหมด (บาท) 2,710,000 6,210,300 4,435,700
ร้อยละของพนักงานกลุ่ม Talent ที่ได้รับการฝึกอบรมและถูกปรับตำแหน่ง / จำนวน Talent ทั้งหมด - 12 9
ร้อยละของพนักงานที่ได้รับการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี 94 98 97
ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในการทำงาน
ร้อยละของพนักงานที่ได้รับการฝึกอบรมเรื่องความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในการทำงาน / เป้าหมาย 90/80 87/80 81/80
ร้อยละของพนักงานขับรถที่ได้รับการตรวจสารเสพติดก่อนเข้าปฏิบัติงาน / เป้าหมาย 94/90 94/90 95/90
ร้อยละของพนักงานที่ประสบอุบัติเหตุถึงขึ้นหยุดงาน / เป้าหมาย (ต่อพนักงาน 100 คน) 0.039 0.027 0.059
จำนวนพนักงานที่เสียชีวิตจากการทำงาน / เป้าหมาย (คน) 0/0 0/0 0/0
การดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน
ร้อยละของพนักงานที่ได้รับการสื่อสารความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน 100 100 100
จำนวนข้อร้องเรียนของพนักงานเรื่องการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งยังอยู่ระหว่างการแก้ไขหรือยังไม่ได้รับการแก้ไข 0 0 0

1) หมายเหตุ: ตัวเลขที่รายงานทั้งหมด อ้างถึงพนักงานประจำเท่านั้น และสำหรับตัวเลขอัตราการลาออกที่มีการก้าวกระโดดในปี 2562 เมื่อเทียบกับปี 2561 ทั้งในแง่ของอุตสาหกรรมและ KEX เนื่องมาจากการเติบโตของอุตสาหกรรมขนส่งพัสดุด่วนในภาพรวม

2) หมายเหตุ: สาเหตุที่พนักงานที่ได้รับการฝึกอบรมเรื่องความปลอดภัยไม่ครบและตรวจสารเสพติดไม่ครบ เนื่องมาจากการลาในวันที่ทำการฝึกอบรมและการตรวจ การบันทึกข้อมูลเมื่อเฉลี่ยออกมาแล้วจึงเป็นดังข้างต้น